เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้เข้าร่วมงานเปิดตัวนิทรรศการ “Bangkok – Vienna Innovation District” ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยมีสื่อมวลชน ผู้แทนจากส่วนราชการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
งานนิทรรศการฯ จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง การครบรอบ 150 ปี มิตรภาพ ไทย - ออสเตรีย ในปี 2562 เอกอัครราชทูตฯ ได้รับเชิญให้กล่าวเปิดงานร่วมกับดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นาย Ernst Woller ประธานอันดับ 1 ของรัฐสภา กรุงเวียนนา นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนางสาว Judith Schildberger อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำไทย
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและออสเตรียตลอด 150 ปีที่ผ่านมา ก่อเกิดความร่วมมือหลากหลายมิติครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา และการท่องเที่ยว รวมทั้งนวัตกรรมและการพัฒนาเมือง โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนเมือง Aspern Seestadt เพื่อทรงศึกษาดูงานการพัฒนาและบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากเทศบาลกรุงเวียนนาและนาย Eugen Antalovsky กรรมการผู้จัดการบริษัท Urban Innovation Vienna GmbH ทั้งนี้ กรุงเทพฯ และกรุงเวียนนาแม้จะแตกต่างกันมาก แต่เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ทั้งคู่ กรุงเวียนนาได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ติดต่อกัน 10 ปีจากสถาบัน Mercer จากปัจจัยด้านคุณภาพชีวิต ระบบสาธารณูปโภคและระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ในขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใหญ่กว่า และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ASEAN Smart Cities Network ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเขตนวัตกรรมทั่วประเทศ จึงสามารถเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากกรุงเวียนนาได้อย่างดี
นิทรรศการดังกล่าวนำเสนอข้อมูลด้านการพัฒนาเมือง โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 : ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย - ออสเตรีย นำเสนอเนื้อหาจากหนังสือ “จากเจ้าพระยาสู่ดานูบ 150 ปีสัมพันธไมตรีไทย – ออสเตรีย” (Von der Donau an den Chao Phraya: 150 Jahre freundschaftliche Verbindungen zwishcen Osterreich und Thailand) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ และกระทรวงกิจการยุโรป บูรณาการและการต่างประเทศของออสเตรีย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้มอบหนังสือดังกล่าวเป็นของที่ระลึกแก่ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและแขกผู้มีเกียรติที่ได้ร่วมกล่าวในพิธีเปิด
ส่วนที่ 2: การพัฒนาเมืองกรุงเวียนนา นำเสนอยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งนำเสนอแนวทางการแบ่งพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่สีเขียว การพัฒนาระบบคมนาคมและการเคลื่อนย้ายอย่างอัจฉริยะ (smart mobility) ของกรุงเวียนนา
ส่วนที่ 3 : การพัฒนาเขตนวัตกรรมของกรุงเทพฯ ใน 7 พื้นที่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้แก่ ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ (ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์) ย่านนวัตกรรมโยธี (ธุรกิจทางการแพทย์ครบวงจร) ย่านนวัตกรรมปทุมวัน -ราชประสงค์ (ธุรกิจการเงิน) ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดียและดิจิทัล) ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง (อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสตกิกส์) ย่านนวัตกรรมคลองสาน (ธุรกิจชุมชน) และย่านปุณณวิถี (โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค) เพื่อเป็นแผนให้เกิดเป็นระเบียงนวัตกรรมกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok innovation Corridor
ทั้งนี้ นิทรรศการฯ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม ระหว่างวันที่ 6 – 17 ตุลาคม 2562