เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 น.ส. มรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนาได้เข้าพบ น.ส. Natasa Prah อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย เพื่อยื่นสำเนาพระราชสาสน์ตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของไทยประจำสาธารณรัฐสโลวีเนีย โดยเอกอัครราชทูตฯ มีกำหนดยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งต่อนาย Borat Pahor ประธานาธิบดีสโลวีเนียในวันที่ 30 มกราคม 2563
จากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับนาย Dobran Bozic รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติ โดยเน้นย้ำ (1) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยจะผลักดันให้มีการนำคณะนักธุรกิจแลกเปลี่ยนการเยือน เพื่อให้ภาคเอกชนเห็นถึงศักยภาพของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง (2) การแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย (3) ความร่วมมือด้านการศึกษา ซึ่งฝ่ายสโลวีเนียกำลังจัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภายใต้กรอบองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ คาดว่า จะเปิดและเริ่มต้นการทำงานได้ในเดือนมีนาคมนี้ จึงขอเชิญชวนไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมในศูนย์ฯ ด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า ศูนย์ฯ มีความน่าสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ ฝ่ายสโลวีเนียยังให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาทางไกล และแสดงความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับฝ่ายไทยต่อไปด้วย และหากเป็นไปได้ อาจนำไปปรับใช้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เช่นในทวีปแอฟริกาได้ และ (4) ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับระบอบพหุภาคีนิยม อาทิ ในประเด็นการรักษาและสร้างสันติภาพ ประเด็นด้านมนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวขอบคุณที่สโลวีเนียสนับสนุนการสร้างเสริมความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน ในกรอบองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE ด้วย
ในวันเดียวกัน เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับนาง Eva Stravs Podlogar รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะ (1) ผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยและสโลวีเนียต่างมีศักยภาพเป็น hub ของภูมิภาค และมีความตกลงพื้นฐานรองรับด้านการค้าการลงทุนอยู่แล้ว โดยอาจเริ่มจากการจัดคณะนักธุรกิจเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมงานงานแสดงสินค้านานาชาติในสาขาที่สโลวีเนียมีความสนใจ เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ อาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น และ (2) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ (รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP) (3) ฝ่ายไทยได้ให้ข้อมูลและพัฒนาการล่าสุดในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น ความคืบหน้าในเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย – สหภาพยุโรป / ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) / โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) / และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้พบหารือกับนาย Matej Rogeli ผู้อำนวยการสำนักต่างประเทศ สภาหอการค้าและการลงทุนสโลวีเนีย โดยเอกอัครราชทูตฯ กล่าวย้ำความตั้งใจที่จะผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสโลวีเนียให้เต็มศักยภาพและอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการจัดการแลกเปลี่ยนการเยือนของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเรื่อง RCEP และ EEC ด้วย โดยฝ่ายสโลวีเนียรับฟังด้วยความสนใจ รวมทั้งได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง