- Home
- News
- Embassy Activities
- ข่าวและประกาศ
- กิจกรรมสถานทูต
คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 32 ที่กรุงเวียนนา
เมื่อวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2566 คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ32) ซึ่งเป็นเวทีหารือเพื่อกำหนดนโยบายของสหประชาชาติในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ทั้งที่ศูนย์การประชุม Vienna International Centre กรุงเวียนนาและผ่านระบบการประชุมทางไกล
การประชุมในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลักคือ การเสริมสร้างการดำเนินงานของระบบความยุติธรรมทางอาญาเพื่อประกันการเข้าถึงความยุติธรรมและนำไปสู่สังคมที่ปลอดภัยและมั่นคง มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,800 คน จากรัฐสมาชิก 136 ประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ โดยที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติในการรับรองข้อมติเกี่ยวกับการขจัดการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงได้เสนอร่างข้อมติจำนวน 5 ฉบับเพื่อการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ เกี่ยวกับเรื่อง (1) การเตรียมการสำหรับการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 15 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี 2569 (2) การจัดทำยุทธศาสตร์ต้นแบบเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ (3) การเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมาธิการเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และ (5) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
คณะผู้แทนไทยได้แสดงบทบาทในช่วงการประชุมอย่างแข็งขัน โดยปลัดกระทรวงยุติธรรม (นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์) ในฐานะหัวคณะหน้าผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างสังคมที่ปลอดภัยซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม และกล่าวถึงการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวข้อ อาทิ อาทิ การออก พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการทำผิดซ้ำทางเพศและความรุนแรง พ.ศ. 2565 และผู้แทนไทยท่านอื่น ๆ ได้ร่วมหารือโดยย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมทุกประเภทและเสริมสร้างระบบความยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงแบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรม การร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ลดความเสี่ยงของอาชญากรรม การเสริมสร้างเครือข่ายประสานงานเพื่อจัดการชายแดนและต่อต้านลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง การเสริมสร้างระบบความยุติธรรมที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็กเป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรม ขณะที่คณะผู้แทนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะสถาบันในเครือข่ายว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของสหประชาชาติ ได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานเกี่ยวกับการดำเนินงานตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) โดยมีผู้อำนวยการบริหารสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรม ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยและสถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ ได้รับเชิญให้ร่วมอุปถัมภ์และ/หรือเข้าร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมคู่ขนานที่จัดโดยประเทศและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อีก 14 กิจกรรม ครอบคลุมประเด็น เช่น การลดอาชญากรรมความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน การเข้าถึงความยุติธรรมของเด็ก การป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก การใช้หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์และวีดิทัศน์ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และความร่วมมือเพื่อต่อต้านการลักลอบขนสิ่งของผิดกฎหมายในภูมิภาค ซึ่งการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้มีส่วนร่วมมากที่สุดในกิจกรรมคู่ขนานแสดงให้เห็นถึงทั้งความเชื่อมั่นที่ประชาคมระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่สำคัญให้แก่ประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำระดับภูมิภาคในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยในการร่วมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในสังคมควบคู่กับการเสริมสร้างระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกคน