การเกณฑ์ทหาร
การเกณฑ์ทหาร
1. การเกณฑ์ทหาร
- พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 16 “ บรรดาชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 18 ปี (หมายถึงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์) ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินใน พ.ศ. นั้น เมื่อได้รับการขอลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญหรือใบรับให้ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินไว้เป็นหลักฐาน “
- มาตรา 18 “บุคคลใดซึ่งยังมิได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอพร้อมกับคนในปีเดียวกันเพราะเหตุใดๆ ก็ดี ถ้าอายุยังไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ ให้ปฏิบัติทำเนียวเดียวกับมาตรา 16ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จะสามารถปฏิบัติได้ แต่จะให้ผู้อื่นแจ้งแทนไม่ได้ ถ้านายอำเภอจะเรียกตัวลงบัญชีทหารกองเกินก็ย่อมทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว เมื่อได้รับการลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญไว้เป็นหลักฐาน(สด.9 หรือใบรับ)
- ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 18 นี้ แล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่วันลงบัญชีทหารกองเกิน แต่ถ้ามีอายุครบกำหนดปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ตามมาตรา 39 (ทหารกองเกินเมื่อมีอายุครบกำหนดแล้ว ให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่2 คือ อายุ 30 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุน ชั้นที่ 2)
2. ข้อมูลการเกณฑ์ทหารสำหรับชายไทยที่พำนักในต่างประเทศ
- ชายไทยที่พำนักในออสเตรีย สโลวาเกีย หรือสโลวีเนีย หากมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ กรณีที่ยังพำนักอยู่ในต่างประเทศ ไม่สามารถไปแจ้งลงบัญชีทหารกองเกินที่สถานทูตไทยได้แต่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นไปแจ้งแทนได้ โดยบุคคลนั้นต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีที่อยู่ในประเทศไทย ไปแจ้งการลงบัญชีทหารกองเกินแทน ณ อำเภอภูมิลำเนาของบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี โดยต้องนำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน หรือสูติบัตรพร้อมทะเบียนบ้าน และต้องทราบตำหนิแผลเป็นของผู้ลงบัญชีทหารกองเกินด้วยเพื่อเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอจะได้ตรวจสอบหลักฐานและสอบสวนผู้แจ้งแทน หากปรากฏชัดเจนว่า ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินมีอายุอยู่ในกำหนดลงบัญชีทหารกองเกิน มีสัญชาติไทยจริงมีภูมิลำเนาถูกต้อง ก็จะดำเนินการลงบัญชีทหารกองเกินให้ พร้อมกับออกใบสำคัญ (แบบสด.9) มอบให้ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินแทนรับไปเพื่อนำไปมอบให้กับเจ้าตัวเก็บไว้เป็นหลักฐาน
- กรณีที่ชายไทยมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ ไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกิน จะมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงขัดขืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การไม่ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกินตามกฎหมายนี้ หากศาลได้พิพากษาจำคุก แต่รอลงอาญา เมื่อมีประวัติคดีอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งชื่อไปที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทาง กรมการกงสุลจะไม่อนุญาตให้ทำหนังสือเดินทาง จนกว่าชายไทยผู้นี้จะนำคำพิพากษาคดีถึงที่สุดไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจที่มีภูมิลำเนาอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเอกสารแล้ว และถอนประวัติอาชญากรรม พร้อมส่งรายชื่อมายังกรมการกงสุล ผู้ร้องจึงจะสามารถดำเนินการขอหนังสือเดินทางได้
- กรณีชายไทยซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-ออสเตรีย / สโลวาเกีย / สโลวีเนีย ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย และยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน เมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ซึ่งกำหนดจะต้องลงบัญชีทหารกองเกิน ตนเองหรือให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ นำสำเนาสูติบัตรไปพบเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอที่มารดามีภูมิลำเนา เพื่อแจ้งการลงบัญชีทหารกองเกิน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้แจ้งแทน
- กรอกข้อความในใบแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน (แบบ สด.44) เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่า ยังขาดสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนของผู้ขอลงบัญชีฯก็จะบันทึกเสนอนายอำเภอให้ชะลอการลงบัญชีทหารกองเกินไว้ก่อน เมื่อหลักฐานครบแล้วจึงค่อยสอบสวนดำเนินการรับลงบัญชีฯ ให้ตามระเบียบ เมื่อนายอำเภอเห็นชอบให้ผู้แจ้งแทนเซ็นทราบไว้ในใบแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน (แบบ สด.44) แล้วถ่ายสำเนาให้ผู้แจ้งแทนเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ เมื่อมีเอกสารครบถ้วนแล้ว (มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย และมีบัตรประชาชน) แม้มาลงบัญชีฯ เกินกำหนด ก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดีฐานหลีกเลี่ยงขัดขืนแต่อย่างใด เพราะได้ยื่นคำร้อง คือ ใบแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน (แบบ สด.44) ไว้แล้ว
3. การขอหนังสือรับรองเพื่อผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
- สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถมีหนังสือถึงสัสดีอำเภอ เพื่อประกอบการพิจารณาขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารหากผู้ถูกเรียกเกณฑ์ทหารยังคงติดภารกิจต้องศึกษาต่อในออสเตรีย สโลวาเกีย หรือสโลวีเนีย โดยเอกสารที่ต้องนำมาแสดง ประกอบด้วย
(1) หนังสือรับรองจากสถานศึกษาระบุชื่อนักศึกษา ระดับการศึกษา สาขาวิชาที่เรียนหลักสูตรกี่ปี วันเริ่มต้นการศึกษา และวันที่คาดว่าจะจบการศึกษา พร้อมสำเนา 2 ชุด (กรณีเป็นภาษาท้องถิ่น ขอให้แปลเป็นภาษาไทย พร้อมลงชื่อ กำกับตำแหน่งผู้แปลด้วย เพื่อป้องกันปัญหาขัดข้องจากเจ้าหน้าที่สัสดีในประเทศไทย และต้องให้สถานเอกอัคราาชทูตฯ รับรองคำแปลดังกล่าวด้วย)
(2) หนังสือเดินทางไทยมีอายุใช้งาน พร้อมสำเนา 2 ชุด
(3) บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 2 ชุด
(4) ทะเบียนบ้านไทย และออสเตรีย/สโลวาเกีย/สโลวีเนีย พร้อมสำเนา 2 ชุด
(5) คำร้องนิติกรณ์ (มีแบบฟอร์มไว้บริการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์สถานทูตฯ ในหัวข้อ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์)
(6) หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
(7) ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อเอกสาร 1 ชุด - เมื่อได้รับหนังสือรับรองของสถานทูตฯ ข้างต้นแล้ว บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จะต้องยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอที่มีภูมิลำเนา (อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้แล้ว) พร้อมหลักฐาน 1) หนังสือจากสถานทูตฯ 2) หนังสือรับรองจากสถานศึกษา 3) สำเนา ใบสำคัญ (แบบสด.9) 4) หมายเรียก (แบบสด.35) ถ้ามี และ 5) สำเนาทะเบียนบ้าน การผ่อนผันจะสิ้นสุดเมื่อเจ้าตัวสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมาประเทศไทยก่อนกำหนดซึ่งเจ้าตัวจะต้องไปแจ้งด้วยตัวเองต่อนายอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนา
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา
1 ตุลาคม 2563